ผักโขมหน้าตาเป็นยังไง

วันนี้นุชจะพามาทำความรู้จักกับผักโขม หรือ ผักขมกันกันค่ะ แถวบ้านนุช (เชียงใหม่) เรียกผักหม มีทั้งสีเขียวและสีแดง แม่ชอบเก็บมาผัดน้ำมันหอยให้ทานอร่อยมากๆ ไม่ต้องซื้อหาเลยเพราะขึ้นทั่วไปเหมือนหญ้า แค่เก็บมาล้างให้สะอาดแล้วทำอาหารได้เลย

แต่นั่นเป็นข้อมูลบ้านๆ จากประสบการณ์นุชเอง เอาข้อมูลแบบวิชาการดีกว่า ผักโขมเป็นผักที่ขึ้นได้ทั่วไปตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ริมทาง ป่าละเมาะ ป่ารกร้าง สวนผักผลไม้ของชาวไร่ชาวนา บ้านเราผักโขมมีอยู่หลากหลายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่นิยมนำมาทานเป็นอาหารได้แก่ ผักโขมสวน ผักโขมหัด ผักโขมหนาม

ผักโขมไม่ได้ขม แต่กลับมีรสชาติออกหวานหน่อยๆ กินง่าย แถมยังมีโปรตีนสูง กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินเค ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุแมงกานีส ธาตุสังกะสี

แต่ผักโขมมีปริมาณของสารออกซาเลตค่อนข้างสูง (Oxalate) ผู้ที่เป็นโรคนิ่ว โรคเกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือผู้ที่ต้องการสะสมปริมาณของแคลเซียมควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมากๆ มีคำแนะนำว่าการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด การคั่ว จะช่วยลดปริมาณสารออกซาเลตได้ดีที่สุด แต่การนำไปนึ่งหรือต้มจะช่วยลดลงได้บ้างระดับหนึ่ง

ผักโขมกับปวยเล้ง มันคือผักคนละชนิดกัน ต้องแยกให้ออก ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่องป๊อปอายที่เห็นว่ากินผักแล้วช่วยเพิ่มพลัง ผักที่ป๊อปอายกินจริง ๆ แล้วมันก็คือปวยเล้งหรือ Spinach (ออกเสียงว่า “สปีแนช”) แต่ไม่ว่าจะยังไง ผักสองชนิดนี้ก็คือสปีชีส์เดียวกัน คุณสมบัติทางด้านโภชนาการจะคล้ายๆ กัน ต่างกันแต่เพียงลักษณะภายนอกและรสชาติเล็กน้อย รวมถึงเรื่องราคาซึ่งผักปวยเล้งจะมีราคาแพงกว่า

ผักโขมต้านโรคได้ยังไง

มาดูคุณค่าทางโภชนาการของ “ผักโขม” กันค่ะ ที่ชัดๆ คือมีแคลเซียมสูงถึง 215 mg/100 g เหมาะสำหรับคนที่ต้องการบำรุงกระดูกเลยนะคะ

ส่วนนี่เป็นคุณค่าทางโภชนาการของ “ผักปวยเล้ง” หรือ Spinach มีแคลเซียมสูงเช่นกันแต่น้อยกว่าผักโขมเท่านึงเลยค่ะ

นอกจากนี้ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ อีกมากคือ โปรตีนสูง ช่วยต้านอาการอักเสบ กระตุ้นการย่อยอาหาร ระบบขับถ่ายก็ดีขึ้น ลดระดับคอเลสเตอรอล บำรุงสายตา ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

ผักโขมทำอะไรกินได้บ้าง

จากตารางคุณค่าทางโภชนาการด้านบน จะเห็นได้ว่าผักโขมบ้านเรามีแคลเซียมสูงกว่าปวยเล้ง หากินง่าย แล้วยังราคาถูกกว่าอีกด้วยค่ะ เราจะเอามาทำอะไรกินได้บ้างน้า ลองไปดูกันค่ะ

  • ผักโขมผัดน้ำมันหอย
  • ผักโขมผัดไข่
  • ผักโขมอบชีส
  • ซุปผักโขม

สรุปความคิดเห็นของนุช

ข้อดีของผักโขมมีเยอะค่ะ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันคือทานมากอาจทำให้เกิดนิ่วได้ คำว่าทานมากไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามากคือเท่าไหร่ กี่กิโล ระยะเวลาติดต่อกันนานแค่ไหน ตรงนี้ไม่ชัดเจน เราผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณเองนะคะ คือ…ทานผักให้หลากหลาย หลายชนิด หลายสี อย่าทานอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ อย่างผักโขมก็อาจจะสัปดาห์ละ 1-2 มื้อก็ไม่น่าจะเป็นอะไรนะคะ เพราะประโยชน์มีมากกว่าโทษเสียอีก สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: medthai, technologychaoban, usda, kapook


ช่องทางติดต่อ สลัดครีเอเตอร์
โทร: 086 672 0607
Line id: @saladcreator หรือคลิก

เพิ่มเพื่อน