ขายแซนวิช ขายดีแน่ แค่ตอบ 7 ข้อนี้
แซนวิชน่าตาน่ารับประทาน ใครๆเห็นก็อยากซื้อ ทั้งยังทานง่าย ทานเร็วเหมาะกับความเร่งรีบในปัจจุบัน แซนวิชยังสามารถทานเล่นช่วงเวลาเบรค ทานเป็นมื้อหลัก หรือแม้แต่จะซื้อไปฝากคนที่บ้านก็ยังได้ และการทำแซนวิชขาย ทำได้ง่ายกว่าการทำข้าวแกงหรือร้านก๋วยเตี๋ยวลิบลับ นี่จึงทำให้เราเห็นว่ามีแม่ค้าพ่อค้าขายแซนวิชกันแทบจะทุกจุดของเมือง ใต้ตึกออฟฟิศ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ริมฟุตบาท หรือแม้แต่ขายบนถนนตอนรถติด แน่นอนว่าคุณภาพก็แตกต่างกันไปตามราคา
หากว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ล้มมาจากโควิด และอยากจะเริ่มธุรกิจเล็กๆจากการขายแซนวิชแล้วอยากขายดี จริงจัง ไม่ได้ทำเล่นๆ แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจ ยังกล้าๆกลัวๆ เพียงแค่ลองทำการบ้าน ตอบคำถาม 7 ข้อนี้ให้ได้ก่อน คุณก็พร้อมเริ่มธุรกิจนี้ได้อย่างมั่นใจแล้ว
1.แซนวิชของเรา อร่อยมาก… ใช่มั้ย?
แซนวิชที่เราจะเอามาขาย ไม่ว่าจะทำเอง รับมาจากที่อื่น คุณจะต้องชอบก่อน คนขายหรือเจ้าของร้านจะต้องได้ชิมก่อน ถ้าขาย 3 ไส้ เช่น แซนวิชไข่ต้ม แซนวิชทูน่า หรือ แซนวิชไก่ ก็ต้องได้ชิมทั้ง 3 ไส้ ยิ่งถ้าคุณทำแซนวิชขายเอง คุณก็ต้องชอบแซนวิชที่คุณทำเองมากๆก่อน ทำเองเป็นมั้ย? หรือว่าต้องลงเรียนแซนวิชหรือไม่? ลองให้ครอบครัว เพื่อนๆลองชิมดูก่อน ไม่โอเคตรงไหนก็ปรับลด หวานไป น้อยไป ปรับจนกว่าคุณจะพอใจ สำคัญคือคุณต้องมั่นใจก่อนว่าแซนวิชที่คุณจะขายดีจริง อร่อยจริง ทำมาจากวัตถุดิบคุณภาพจริงๆ ถ้ามั่นใจแล้วก็ไปต่อกันเลย
2.กลุ่มลูกค้าคือใคร ขอชัดๆ?
คุณต้องรู้จริงๆว่าจะขายให้ใคร แล้วต้องตอบแบบชัดมากๆ สมมติว่าคำตอบของคุณคือ “ขายให้พนักงานออฟฟิศ” แค่นี้ไม่พอ คุณจะต้องเจาะให้ชัดไปเลยว่า พนักงานออฟฟิศที่ตึกไหนบ้าง ผู้หญิงหรือผู้ชาย น่าจะอายุช่วงไหนที่อยากจะซื้อกิน มีบริษัทอะไรบ้าง รายได้เขาประมาณไหน ขับรถมาทำงาน หรือว่านั่งรถเมล์มา แน่นอนว่าคุณไม่สามารถหาข้อมูลมาได้เป๊ะๆ แล้วก็ไม่ต้องรอทำข้อมูลพวกนี้ให้สมบูรณ์มากเกินไปจนไม่ได้เปิดร้านซักที แค่อยากจะให้คุณจินตนาการว่าอยากจะขายให้ใคร ซึ่งกลุ่มลูกค้านี้จะส่งผลอย่างมากต่อตัวแซนวิชของเรา จะมีหน้าตายังไง ราคาเท่าไหร่ แพคเกจแบบไหน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลพวกนี้จะเริ่มชัดขึ้นเมื่อคุณเริ่มขายไปแล้ว คอยสังเกตุลูกค้าแล้วค่อยๆปรับเปลี่ยนได้
3.ช่องทางการขาย ขายที่ไหนบ้าง?
เมื่อคุณรู้จักลูกค้าแล้วจะเห็นภาพชัดขึ้น คุณจะรู้แล้วว่าจะขายช่องทางไหนเหมาะสมที่สุด ใต้ตึกนี้ไม่มีร้านแซนวิชเลย มีแต่ร้านกาแฟ ค่าเช่าไม่แพง มีกลุ่มลูกค้าอยู่จำนวนมากก็น่าลองดู แต่หากว่ามีเซเว่นอยู่ใกล้ๆ ก็ควรปรับแซนวิชให้ดีกว่า น่าซื้อกว่า หรือ ตลาดข้างสถานีรถไฟฟ้า พื้นที่ใกล้ร้านอาหาร ส่งไปฝากขายตามร้านกาแฟ ขายให้เพื่อนๆในออฟฟิศก่อน จัดเบรคประชุมสัมนา หรือแม้แต่ขายออนไลน์อย่างเดียวไม่มีหน้าร้านก็ได้ หากว่าคุณเชี่ยวชาญมีทักษะด้านโซเชียลเนตเวิร์ค จำไว้ว่าต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่จะซื้อของจากคุณมากที่สุด
4.ใครผลิต ใครขาย ใครส่ง ต้องการลูกจ้างมั้ย?
คุณจะต้องตัดสินใจว่า ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบมีอะไรบ้าง? ใครทำอะไรบ้าง? หากว่าคุณทำแซนวิชเอง ใครจะซื้อวัตถุดิบ? ซื้อที่ไหนบ้าง? ทำเอง ต้องการลูกจ้างช่วยทำหรือไม่? ทำที่ไหน? การขนส่งไปขาย ใครส่ง? ส่งเอง ขายที่ไหนบ้าง? ลูกจ้างช่วยขาย หรือ ขายเอง ต้องการลูกจ้างกี่คน? จ้างต่างด้าว หรือคนไทย ทุกอย่างคุณต้องคิดให้ละเอียดประมาณนึง แล้วไปปรับอีกทีหน้างาน
5.ขายชิ้นละเท่าไหร่ดี?
เมื่อคุณมีแซนวิชของคุณแล้ว รู้จักลูกค้าแล้ว รู้ว่าจะขายที่ไหนแล้ว รู้ว่าซื้อวัตถุดิบที่ไหน ราคาวัตถุดิบราคาเท่าไหร่แล้ว รู้ค่าขนส่งแล้ว รู้ว่าต้องจ้างลูกจ้างหรือไม่แล้ว คุณจะรู้แล้วว่าต้นทุนต่อชิ้นของแซนวิชคุณคือเท่าไหร่ คุณอยากได้กำไรเท่าไหร่ ก็ลองตั้งราคาดู หรือจะลองคิดอีกแบบคือ ตั้งราคาขายที่เหมาะกับลูกค้าของคุณขึ้นมาเลย เช่น แซนวิช ชิ้นละ 45 บาท แล้วค่อยไปพยายามทำให้ต้นทุนและกำไรของคุณไปด้วยกันได้กับราคาขายนี้ อย่าลืมตั้งเป้าหมายด้วยว่า วันนึงอยากขายให้ได้กี่ชิ้น รายได้ต่อวัน และกำไรต่อวันเท่าไหร่ ที่คุณจะพอใจ หรือถ้าหากว่ายังไปไม่ถูก นุชได้ทำแนวทางการคิดต้นทุน คลิกเข้ามาอ่านแล้ว ดาวน์โหลดไฟล์ excel ไปลองใช้ฟรีกันได้เลยคะ
6.ทำบัญชีเป็นมั้ย?
สิ่งนี้เป็นจุดตายของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารเล็กๆ กลางๆ ซึ่งก็คือการทำบัญชี บ่อยมากที่เราจะเห็นร้านที่ดูขายดีมากๆ แต่ไม่มีกำไรเลย หรือกำไรน้อยมากๆ ถ้าแบบนี้มันก็จะเหนื่อยเปล่า คุณต้องจดทุกอย่างที่จ่ายไป ซึ่งราคาวัตถุดิบก็มีขึ้นมีลงอยู่เสมอด้วย และไม่ใช่แค่ต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงของตัวเอง กำไรก็ส่วนนึง ค่าแรงตัวเองก็ส่วนนึง ควรแยกจากกันชัดเจน และอย่าลืมกันเงินส่วนนึงไว้สำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เช่น ค่าจัดการเอกสารลูกจ้างต่างด้าวต่างๆ ภาษีต่างๆ ตู้เย็นเสีย รถเสีย ค่าต่อสัญญารายปีที่อาจขึ้นราคาจากเดิม ตลาดถูกสั่งปิดเพราะโควิด แน่นอนว่าช่วงแรกๆรายได้ก็ไม่อาจมาชดเชยส่วนนี้ได้ แต่เมื่อขายไปนานๆก็ขอให้กันส่วนนี้ไว้อย่าได้ลืมเป็นอันขาด การทำบัญชีหลายคนอาจรู้สึกยากที่จะเริ่ม คลิกเข้ามาดูวิดีโอคลิปที่นุชสอนนี้ก่อน จากนั้นดาวน์โหลดไฟล์ excel ไปใช้ฟรีกันได้เลยคะ
7.มีชื่อร้านแล้วหรือยัง?
เรื่องนี้ก็เป็นจุดตายเหมือนกันสำหรับร้านอาหารเล็กๆในไทย คือไม่ค่อยมีชื่อร้านให้เรียกเป็นเอกลักษณ์ การสร้างแบรนด์ในธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต่างประเทศแค่ซื้อขายชื่อยี่ห้ออย่างเดียว ก็ทำได้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ได้เงินเป็นล้านๆ แต่ในไทยนั้นอ่อนมาก ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ แม้แต่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ การแค่ตั้งชื่อร้านว่า “ร้านส้มตำรสเด็ด” “ร้านปลาเผาเจ้าเก่า” “ข้าวมันไก่ซอย8” หรือ “ร้านแซนวิชสดใหม่” แค่นี้ไม่พอ เพราะว่าการที่เราจะสร้างลูกค้าให้ติดได้ เราลงทุนลงแรงไปมากมหาศาล การสร้างมูลค่าร้านของเราแต่ลูกค้าจำเราไม่ได้ เราจะขยายสาขายังไง? เราจะให้ลูกค้าบอกปากต่อปากยังไง? จะส่งต่อร้านนี้ไปยังลูกหลานของเรายังไง? ควรตั้งชื่อให้เจาะจง มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร เช่น “หมูทอดเจ๊จง” “ซ้งเป็ดพะโล้” หรือ “ศิริวัฒน์แซนวิช” แบบนี้ ใครพูดถึงก็จะรู้ทันทีว่าหมายถึงใครลูกค้าจะหาเราจนเจอ แม้ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม
จริงๆหลักการพวกนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจที่กำลังจะเริ่มต้นได้เลย ไม่น่าจะหนักเกินไปถ้าคุณจริงจัง ไม่ได้ทำธุรกิจให้เปลืองแรง เปลืองเงินเล่นๆ ถ้าคุณจริงจัง ตั้งใจ ใส่เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้าง ล้มบ้าง ลุกบ้าง คุณได้อะไรกลับมาเป็นบทเรียนเพื่อใช้ในครั้งต่อไปแน่นอน ซึ่งเงินที่ไหนก็ไม่สามารถซื้อได้
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนประสบความสำเร็จ ขายดี ออเดอร์ท่วม พลิกฟื้นกลับมามั่นคง ร่ำรวย